Skip to main content

“หอการค้าจังหวัดสงขลา” ขอบคุณ “กระทรวงแรงงาน” ยื่นมือช่วยเหลือลดผลกระทบจากโควิด – 19 ทันสถานการณ์

รายละเอียดเนื้อหา

          ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่สงขลา พบปะคณะกรรมการหอการค้าฯ และผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและบริการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 รับฟังปัญหา ช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างตามมาตรการเยียวยาลดผลกระทบของกระทรวงแรงงาน ด้านหอการค้าจังหวัดขอบคุณกระทรวงแรงงานที่เข้ายื่นมือช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์

          เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ตนลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการหอการค้าและผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและบริการท่องเที่ยว ในประเด็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ ห้องประชุมหอการค้าจังหวัดสงขลา โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงานดูแลผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเน้นย้ำว่า “ศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน” จะต้องเป็นที่พึ่งให้กับนายจ้างและลูกจ้างในพื้นที่ โดยในครั้งนี้
สภาหอการค้าจังหวัดสงขลา นายจ้างและผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้พบปะกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ได้รับฟังถึงข้อปัญหา ข้อเรียกร้อง และแนะนำวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งการพูดคุยเป็นไปอย่างดี พร้อมจับมือกัน เพื่อแก้ปัญหาไปด้วยกัน

          ดร.ดวงฤทธิ์ ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาแก่ผู้ประกอบการและลูกจ้าง เพื่อลดผลกระทบจากโควิด – 19 ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้แก่ 1) แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด จะต้องตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ หากเป็นสมาชิกฯ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว จำนวน 15,000 บาท 2) จัดเตรียมตำแหน่งงานว่าง 81,562 อัตรา และจ้างบัณฑิตจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ 3) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในระบบจากเดิม 70,000 คน เพิ่มอีก 30,000 คน รวมทั้งสิ้น 100,000 คน 4) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานนอกระบบจากเดิม 100,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 20,000 คน รวมทั้งสิ้น 120,000 คน 5) โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคมและธนาคารพาณิชย์ โดยให้สถานประกอบกิจการยื่นขอสินเชื่อในดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด วงเงิน 30,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือนธันวาคม 2563 6) อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรค COVID – 19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 7) แจ้งเวียน สปส.กทม./จังหวัด/สาขา และสถานพยาบาลประกันสังคมทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติในการให้บริการรักษาพยาบาล กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโรค COVID – 19 ) ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินกู้และเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ และ 9) ลดเงินสมทบให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 1% โดยให้จ่ายฝ่ายละ 4% (จากเดิมฝ่ายละ 5%) เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน โดยออกเป็นประกาศกระทรวง ให้มีผลบังคับใช้ในงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

12 มีนาคม 2563

TOP