Skip to main content

ก.แรงงาน จับมือ EU เผยรายงานวิจัยวัดผลความก้าวหน้าเกี่ยวกับแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย ภายใต้โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project)

รายละเอียดเนื้อหา

          ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ คณะผู้แทนแห่งสหภาพยุโรปแห่งประเทศไทย เผยงานวิจัยวัดผลความก้าวหน้าเกี่ยวกับแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย ภายใต้โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ชี้สภาพการทำงานโดยรวมดีขึ้น เน้นย้ำ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารทะเล

          วันที่ 10 มีนาคม 2563 เวลา 13.25 น. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวในงานเปิดตัวข้อค้นพบจากงานวิจัยวัดผลความก้าวหน้าเกี่ยวกับแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย ภายใต้โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับ นายเชโรม ปงส์ (Mr. Jerome Pons) ที่ปรึกษา (หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ) สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และ นายแกรม บัคเลย์ (Mr. Graeme Buckley) ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต

          นายสมบูรณ์ฯ กล่าวว่า งานวิจัยวัดผลความก้าวหน้าหรือ Endline Research เป็นการเปรียบเทียบผลการสำรวจในปี 2562 กับข้อมูลพื้นฐาน หรือ Baseline ที่จัดเก็บเมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มดำเนินการโครงการ Ship to Shore Rights โดยงานวิจัยดังกล่าวได้มีการจัดเก็บข้อมูลจากแรงงานประมง และแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ประมาณ 500 คน ใน 11 จังหวัดชายทะเล ความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ ความพยายามในการให้สัตยาบันตราสารระหว่างประเทศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่สำคัญจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พิธีสาร ค.ศ. 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 และอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ. 2007 ซึ่งประเทศไทยสำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงผลักดันการพัฒนาและแก้ไขกฎหมายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เช่น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 รวมถึงจัดทีมสหวิชาชีพในการตรวจแรงงานและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

          ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันถึงความก้าวหน้าในการบูรณาการร่วมกับระหว่างภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคประชาสังคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อป้องกันและขจัดการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และรูปแบบของการทำงานที่ไม่สามารถยอมรับได้ ให้หมดไปจากภาคประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทย ความก้าวหน้าของประเทศไทยปรากฏให้เห็นในรายงานฉบับนี้ หลายประเด็น อาทิ การเข้ามาทำงานผ่านช่องทางทางกฎหมาย และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่ต้องร่วมกับทุกภาคีทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของโลก

          ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะยกระดับการคุ้มครองแรงงานในงานประมงและแปรรูปอาหารทะเล โดยมีบทบาทในฐานะผู้นำด้านตัวอย่างการดำเนินการที่ดี (Good Practice) และเป็นประเทศต้นแบบการจัดการด้านแรงงานประมงและอาหารทะเล ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อต่อยอดการดำเนินการในปัจจุบัน


ปรีชา ขยัน – ภาพ/ข่าว

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

10 มีนาคม 2563

 

TOP