Skip to main content

ก.แรงงาน ชูประชารัฐพัฒนาแรงงานยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์

รายละเอียดเนื้อหา

            กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร การจัดทำหลักสูตร การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ผ่าน AHRDA พร้อมเตรียมจัดตั้ง MARA ในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี Manufacturing, Automation และ Robotics ในอนาคต




Preview

Download Images

 

 

            หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน AHRDA – ประชารัฐ กับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ ๔.๐ ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ภาคกลางตอนกลาง (สมุทรปราการ) กล่าวว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์หรือ AHRDA (Automotive Human Resource Development Academy : AHRDA) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ในอนาคต โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญคือ การพัฒนาคนหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาการผลิตหรือ Supply Chain ซึ่งทั้ง ๓ ปัจจัยจะต้องบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเข้าไปช่วยในเรื่องของการฝึกอบรม การจัดทำหลักสูตร การจัดทำมาตรฐาน ส่วนภาคเอกชนเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมใหม่ๆ และภาคการศึกษาบูรณาการด้านความรู้ วิทยากร และเตรียมคนเข้าสู่อุตสาหกรรม อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ และการร่วมมือสานพลังประชารัฐ การพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ถึงจุดหมาย และในอนาคตกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะได้จัดตั้ง MARA (Manufacturing Automation and Robotics Academy) ขึ้นในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ เพื่อเป็นหน่วยงานฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี Manufacturing, Automation และ Robotics รองรับนโยบายการพัฒนา EEC ของรัฐบาล มีเครือข่ายภาคเอกชนคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันไทย – เยอรมัน ร่วมดำเนินการโดยมุ่งพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S – Curve) โดยรูปแบบการดำเนินการจะเหมือน AHRDA ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะสำเร็จ และขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้


            หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงาน AHRDA – ประชารัฐฯ ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์ และร่วมมือร่วมใจกันในการเป็นเครือข่ายในการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เพื่อการพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ หม่อมหลวงปุณฑริกฯ กล่าวในท้ายที่สุด


            ทั้งนี้ ปัจจุบัน AHRDA ได้ร่วมกับเครือข่ายในการฝึกอบรมให้กับกำลังแรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ นักศึกษาอาชีวะ จำนวน ๕,๙๔๙ คน และพัฒนาหลักสูตรแล้ว จำนวน ๑๐๗ หลักสูตร อาทิ หลักสูตรกลึงรูปพรรณเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หลักสูตรการใช้เครื่อง Wire Cut เพื่อผลิตแม่พิมพ์ หลักสูตรการเชื่อมจุดด้วยความต้านทานในการผลิตชิ้นส่วน หลักสูตรพนักงานควบคุมการเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งภายในงานมีการเสวนาทิศทางการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ด้วยวิถีประชารัฐรองรับไทยแลนด์ ๔.๐ แนวคิดจากตัวแทนภาครัฐและเอกชน และ Skill for Change in Automotive and Part Industry มีสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าร่วมจำนวน ๑๐๐ แห่ง เจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชนรวม ๒๕๐ คน


——————————————-


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

๖ กันยายน ๒๕๖๐

กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว ภาพ

TOP