Skip to main content

ก.แรงงาน ประชุมความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน

รายละเอียดเนื้อหา

          วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.30 น. นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) เกี่ยวกับโครงการ CREST (Corporate Responsibility in Eliminating and Trafficking) และการร่วมเป็นคณะทำงานในการจัดทำคู่มือปฏิบัติให้กับภาคธุรกิจเรื่อง “การเยียวยาและการเข้าถึงความยุติธรรมของแรงงานต่างด้าวในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน” ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

 

 

          นางสาวแอนนา แพตโทโนว่า (Ms.Anna platonova) ผู้แทน IOM กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทซึ่งเป็นแบรนด์ (Brands) ระดับโลกที่ประกอบธุรกิจในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยส่งเสริมให้มีการจัดหางานและการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและมีความโปร่งใส ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ และทาสยุคใหม่ เช่น California Transparency in Supply Chains Act of 2010 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสาระสำคัญคือการกำหนดให้ผู้ประกอบการในแคลิฟอร์เนียต้องจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในการต่อต้านแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ที่ครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทาน

          สำหรับโครงการ CREST  เป็นข้อริเริ่มของ IOM และภาคธุรกิจเพื่อขจัดการค้ามนุษย์และทาสยุคใหม่ (Modern Slavery) ในการประกอบธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)  ผ่านกิจกรรมหลักของโครงการ 6 กิจกรรม ได้แก่ (1) การอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการเป็นทาสให้กับบริษัทและแบรนด์ (Brands) นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกันและลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการเป็นทาส (2) การจัดอบรมก่อนเดินทางและหลังการเดินทางมาถึงให้แก่แรงงานต่างด้าว (3) บริษัทและแบรนด์/ห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการจ้างแรงงานต่างด้าวเฉพาะจากบริษัทจัดหางานที่มีการสรรหาแรงงานหรือการจัดหางานที่มีจริยธรรม (Ethical Recruitment) (4) การตรวจสอบกระบวนการจัดหาแรงงานต่างด้าว (Due Diligence) โดยบริษัทและแบรนด์เพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานแรงงาน (Labour Supply Chain) ที่มีความโปร่งใส (5) แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจ้างงาน บริการจัดหางาน การโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย และ (6) การร้องเรียน การเยียวยาและการเข้าถึงความยุติธรรมของแรงงานต่างด้าวในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน

          ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะหารือในรายละเอียดกับ IOM เพื่อจัดทำคู่มือปฏิบัติให้กับภาคธุรกิจเรื่อง “การเยียวยาและการเข้าถึงความยุติธรรมของแรงงานต่างด้าวในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน”กับ IOM ต่อไป

 

——————————————————–

 

สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ – ข้อมูล

ชาญชัย ชาวหนองเพียร – ภาพ

23 กรกฎาคม 2562

TOP