Skip to main content

ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์ตัวแบบประมาณการอุปสงค์อุปทาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

รายละเอียดเนื้อหา

วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมประชาพิจารณ์ตัวแบบประมาณการอุปสงค์อุปทานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสาน-เพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย, และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ณ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร

นางนภสร กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทุกด้าน ทั้งด้านธุรกิจ การลงทุน การใช้ชีวิต ดังนั้น ภาครัฐจึงมีความจำเป็นจะต้องวางแผนเพื่อรับมือกับบริบทที่เปลี่ยนไปในสังคมโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตขึ้นไปอย่างมั่นคง โจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องเผชิญ คือ การกำหนดนโยบายอย่างไรที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน รวมไปถึงจะทำอย่างไรให้สามารถสนับสนุนภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในบริบทของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายด้านแรงงานของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับทราบข้อคิดเห็น จากภาคเอกชนที่มีต่อการกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่กำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศให้ให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ดำเนินการผลักดันนโยบายการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ถูกวางไว้เป็นกลไกหลัก ของการปรับโครงสร้าง ภาคการผลิต ทั้งเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการให้ ก้าวไปข้างหน้า โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมเพื่อเพิ่มการลงทุนของประเทศ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะ 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามสำหรับการประชุมประชาพิจารณ์ในวันนี้ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของท่าน เพื่อที่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจะได้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายด้านแรงงานของประเทศ

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีโครงการที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและพัฒนาตัวแบบประมาณการอุปสงค์และอุปทานแรงงาน ให้มีประสิทธิภาพในการพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวมีกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) กลุ่มการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) กลุ่มอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7) กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) กล่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สำหรับการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานดังกล่าว สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสำรวจความคิดเห็นจากสถานประกอบการกลุ่มเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 มีกำหนดเสร็จสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 โดยได้ดำเนินโครงการมาถึงกิจกรรมช่วงท้ายของโครงการแล้ว รายงานวิจัยโครงการพัฒนาตัวแบบข้อมูลอุปสงค์และอุปทานกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงงานวิจัยต่อไป และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กองเศรษฐกิจการแรงงาน มีแผนการดำเนินงานต่อยอดงานวิจัยครั้งนี้ โดยจะดำเนินการพัฒนาระบบการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานแรงงาน ที่สามารถสร้างแบบจำลองสถานการณ์และประมาณการอุปสงค์อุปทานแรงงานของประเทศไทย ในระดับอุตสาหกรรมและระดับจังหวัดหรือภูมิภาค ซึ่งให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการกำหนดฉากทัศน์นโยบาย/มาตรการของกระทรวงแรงงาน ต่อไป

TOP