Skip to main content

“บิ๊กอู๋”บินถก“เต็ง ส่วย”เจรจาความร่วมมือจ้างแรงงานประมงทะเลตามเอ็มโอยู

รายละเอียดเนื้อหา

           รมว.แรงงาน เจรจาความร่วมมือนำเข้าแรงงานประมงตามเอ็มโอยู กับ รมว.แรงงานฯ เมียนมา กระชับความร่วมมือจ้างแรงงานประมงทะเล เป็นแนวปฏิบัติตามกฎหมายที่ชัดเจน




Preview

Download Images

            เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางานและคณะ เดินทางไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานกับนายเต็งส่วย (H.E.U Thein Swe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ กระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญของการเจรจาหารือในครั้งนี้ เช่น ประเด็นที่แจ้งให้ฝ่ายเมียนมาทราบเรื่องการขยายการทำงานให้แรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลกลุ่มมาตรา 83 จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 30 ก.ย.61 ขยายอีก 2 ปี จนถึง 30 ก.ย.63 ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ 11,000 คน ซึ่งเป็นแรงงานเมียนมา 2,209 คน โดยแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วต้องมารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.-30 ก.ย.61 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดที่ติดทะเล การแจ้งมาตรการเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงาน 3 สัญชาติที่มาดำเนินการไม่ทัน 30 มิ.ย.61 และยังอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องมีพาสปอร์ต หรือ CI ที่ยังไม่หมดอายุ มาทำ Sea Book เพื่อทำงานเฉพาะกิจการประมง 1 ปี

            พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า การนำเข้าแรงงานประมงตาม MOU ซึ่งนายจ้างในกิจการประมงส่วนใหญ่ยินดีที่จะจัดสภาพการจ้างตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ค่าจ้าง 10,000 บาท หากมีประสบการณ์ 12,000 บาท และมีเงินส่วนแบ่งการขายสัตว์น้ำที่จับได้ การต่อสัญญาจ้างจาก 2 ปี ต่อได้ 2 ปี หากประสงค์จะทำงานต่อให้เว้นระยะ 30 วัน ปรับสภาพการจ้างและสวัสดิการ ประกันสุขภาพ ประกันภัย และการเป็นสมาชิกประกันสังคม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คนงานไทยและต่างชาติในกิจการประมงเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม รวมทั้งความคืบหน้าการเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างที่ฝ่ายไทยจะเปิดดำเนินการที่จังหวัดระนอง เพื่อเป็นช่องทางการส่งแรงงานในกิจการประมง นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังได้มอบหมายให้นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ได้หารือในรายละเอียด เพื่อให้ได้แนวปฏิบัติในการจ้างแรงงานที่ชัดเจน 

            ปัจจุบันแรงงานประมงทะเลที่ขาดแคลนจำนวน 53,649 คน เป็นแรงงานกลุ่มมาตรา 83 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 11,000 คน เป็นเมียนมา 2,209 คน ลาว 177 คน และกัมพูชา 8,614 คน การหารือครั้งนี้ทำให้เกิดความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในการจัดส่งแรงงานตาม MOU เพื่อให้กระบวนการจ้างแรงงานมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้รับความคุ้มครองตามหลักกฎหมายไทย รวมทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์และการถูกเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ ได้อีกด้วย

—————————————–

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ – ข้อมูล/16 สิงหาคม 2561

TOP