Skip to main content

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ก.แรงงาน กล่าวต้อนรับเปิดประชุมทวิภาคี ไทย กัมพูชา ส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม ระหว่างและหลังการระบาดเชื้อไวรัาโควิด-19

รายละเอียดเนื้อหา

            วันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวต้อนรับพิธีเปิดการประชุมทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรมระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทยในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของเชื้อไวรัาโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom โดยกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ขึ้นทะเบียนมีจำนวนกว่า 2.1 ล้านคน โดยแรงงานกัมพูชามีจำนวน 448,492 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการก่อสร้าง การเกษตร งานบริการต่างๆ การผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การค้าส่ง ค้าปลีก และแผงลอยในตลาด

            ประเทศไทยและกัมพูชามีการลงนามใน MOU ฉบับแรก ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานในประเทศไทยเป็นปกติและปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมได้อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และขจัดการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติได้จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้พัฒนากฎหมายและข้อบังคับอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม โดยมีนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 กำหนดห้ามการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางานจากแรงงานข้ามชาติ และควบคุมให้กระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ตลอดจนเคารพสิทธิของแรงงาน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และจากการระบาดของโรคโควิด – 19 ประเทศไทยจำเป็นต้องชะลอการนำแรงงานเข้ามาทำงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงแรงงานจึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายในประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการ รวมถึงมีการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้อยู่ต่อและทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตลอดจนผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันกับที่ใช้ช่วยเหลือแรงงานไทย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น การให้บริการฉีดวัคซีน การให้คำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเอง การบริจาคอาหารกรณีแรงงานภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการ

            ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณากำหนดแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตามระบบ MOU ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อให้นายจ้างและสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายอันจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ ทั้งนี้ นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินการ เช่น ค่ากักตัว ค่าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด – 19 เป็นต้น

            นายสุรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะสำเร็จลงมิได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และขอขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาสำหรับความร่วมมือด้านแรงงานด้วยดีเสมอมา ขอแสดงความชื่นชมสำนักงาน IOM ประจำประเทศไทยและกัมพูชาที่ได้จัดการประชุมในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมทวิภาคีฯ จะเป็นเวทีสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและสัมพันธไมตรีด้านแรงงาน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแนวปฏิบัติและกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติของกัมพูชามายังประเทศไทย ตลอดจนมุ่งไปสู่การจัดหางานอย่างมีจริยธรรมที่ยั่งยืนต่อไป

———————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP